สมาคมดัมมี่ สุดยอดแหล่งเรียนรู้ของคนชอบเล่นดัมมี่ ยินดีต้อนรับ Welcome to Dummy Club: The great site for Thai knock dummy lover ติดต่อ Contact Phone: 0838594567 Email: krujaab@gmail.com สมาคมดัมมี่ สุดยอดแหล่งเรียนรู้ของคนชอบเล่นดัมมี่ ยินดีต้อนรับ Welcome to Dummy Club: The great site for Thai knock dummy lover ติดต่อ Contact Phone: 0838594567 Email: krujaab@gmail.com

Kao Jaab's lifestyle Free and Easy

ธรรมะดัมมี่


 ธรรมะคืออะไร

       ธรรมะคือ  กายกับใจ  กายกับใจนี้เป็นสภาวะธรรมะเป็นสิ่งที่เป็นมาโดยธรรมชาติ  ธรรมชาติของมนุษย์มีกายกับใจเป็นสมบัติ  มนุษย์เราจึงมีธรรมะกันทุกคน

        ศึกษาธรรมะ  ศึกษาดัมมี่  ใช้สภาวะธรรมะเป็นเครื่องรู้ของจิต  ท่านให้เอาใจค้นคว้าดูสภาวะความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงของเกม  ใจคุณอาจจะชอบหรือไม่ชอบ อยากให้น็อกมืดอมสเปโต ไม่อยากให้ลบมืด  สิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่ใจเราต้องการนี้เรียกว่า ทุกข์ นี่คือความจริงที่คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หรืออนิจจัง  ความไม่เที่ยงไม่แน่นอนของเกมดัมมี่

        ในเกมดัมมี่ตัวคุณอาจมีโอกาสเป็นไปได้หลายอย่างตามสภาพจิตใจและสามารถแสดงออกมามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับธรรมะประจำตัวของคุณ ตามหลักธรรมะท่านวางหลักให้พิสูจน์ตัวตนที่แท้จริงของคุณอยู่ 4 ประการ คือ

1.  มนุสสเปโต  กายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นเปรต โลภมาก อยากได้อยู่ตลอด ขี้เหนียว ชอบเอาเปรียบ

2.  มนุสสดิรัจฉาโน  กายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นเดรัจฉาน ไม่มีความละอายต่อบาป ไม่รู้จักบุญคุณ                                                                  

3.  มนุสสมนุสโส  กายเป็นมนุษย์ใจก็เป็นมนุษย์ มีศีลธรรม รู้จักผิดชอบ    ชั่วดี มีเมตตาช่วยเหลือผู้อื่น 

4.  มนุสสเทโว  กายเป็นมนุษย์ใจเป็นเทวดา จิตใจงดงาม ทำแต่ความดี

        มนุสสเปโต  คุณมีจิตใจที่โลภอยากได้กินสเปโต 2 ตัว กินหัวด้วยยิ่งดี    น็อกธรรมดายังไม่พออยากอมสเปโตไว้บนมือน็อกด้วย  ขณะนั้นกายคุณเป็นมนุษย์  แต่จิตใจคุณเป็นเปรต

        มนุสสดิรัจฉาโน  คุณโกรธแค้นตีโง่เขาก็คิดอยากจะเอาคืน ไม่พอใจเวลาถูกน็อกตัดหน้า  พูดคำหยาบ ด่าไพ่ ในขณะนั้นร่างกายคุณเป็นมนุษย์แต่จิตของคุณเป็นเดรัจฉาน

         มนุสสมนุสโส  กายเป็นมนุษย์  จิตใจเป็นมนุษย์  คุณเป็นผู้เล่นที่ฉลาด รู้การตีไพ่ที่ดีและไม่ดี มีความรับผิดชอบ เล่นง่าย มีน้ำใจดี ตีให้เกิด ไม่อิจฉาใครจะได้กินหัว กินสเปโต      

        มนุสสเทโว  กายเป็นมนุษย์  แต่จิตใจเป็นเทวดา  จิตใจของคุณมีความสงบ  เยือกเย็น  แม้จะถูกกินก็ตาม  ชอบเล่นอย่างสนุกสนาน  ไม่คิดอยากจะเอาโง่ใคร  ไม่ต้องการกินใครเยอะ        

       นี่คือหลักพิสูจน์ตัวเอง  ให้สังเกตดูถ้าคุณมีนิสัยแบบนี้จะแก้ไขอย่างไร ถ้าคุณรู้ว่าจิตใจเป็นเดรัจฉานก็ใช้จิตใจข่มให้ชนะตัวเอง  ถ้าคุณมีจิตใจโลภก็ขอให้ลดลงหรือละเว้นเสียบ้าง คุณควรยึดหลักนี้ไปปฏิบัติเพื่อส่งเสริมให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 


 การพนันกับดัมมี่           

           ดัมมี่เป็นเกมที่มีประโยชน์อย่างมากช่วยฝึกสมอง ผ่อนคลายความเครียด สร้างความสนุกสนานกันในครอบครัวและเพื่อนฝูงและมีประโยชน์อย่างอื่นอีกมากแต่เสียอย่างเดียวถ้าเปลี่ยนการนับแต้มเป็นเงิน ดัมมี่จะกลายเป็นการพนันขึ้นมาทันทีและถูกมองว่าเป็นสิ่งเลวร้ายไป  

         ในทางศาสนาพุทธ การพนันเป็น 1 ใน 6 อบายมุขหมายถึงเป็นทางแห่งความเสื่อม เป็นความฉิบหายของทรัพย์สมบัติรวมกับอบายมุขอย่างอื่น คือ กินเหล้าเที่ยวกลางคืนเที่ยวดูการละเล่นคบคนชั่วเป็นมิตร และ เกียจคร้านการทำงาน การพนันไม่ผิดศีล ไม่มีอยู่ในศีล 5 ศีล 8 ไม่ได้ห้ามปุถุชนที่ยังมีกิเลสตัณหาเล่นการพนันแต่ให้หลีกหนีเพราะเป็นเกมที่นำไปสู่การเสพติดการพนันได้

          การพนันอาจมีข้อดีอยู่บ้างเช่น ทำให้ชีวิตมีความหวังจากการเสี่ยงโชค อาจได้เงินมาอย่างง่าย ๆ แม้ว่าเซียนดัมมี่จะเล่นพนันได้อย่างสบายใจ ไม่ผิดศีล เงินที่ได้มาเกิดจากโชคลาภ ไม่ได้ลักขโมยใครแต่ก็ใช่ว่าเงินจะนำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริงเพราะเขากำลังสร้างเวรกรรมเกิดขึ้น 

          พระพุทธเจ้าตรัสถึงโทษของการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทไว้ 6 ประการดังนี้

            1. เมื่อชนะย่อมก่อเวร ผู้เล่นชนะย่อมสร้างความโกรธแค้นให้ผู้แพ้อยากเอาเงินที่เสียไปคืน

            2. เมื่อแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ ผู้แพ้รู้สึกเสียดายทรัพย์มากเพราะเสียทรัพย์ไปโดยไม่เกิดประโยชน์

            3. ทรัพย์ย่อมหมดไป ผู้แพ้ย่อมจะเสียทรัพย์ไปเรื่อย ๆ ยิ่งเล่นมากก็ยิ่งเสียมาก

            4. ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ ผู้แพ้ไปพูดขอยืมเงินใครก็ไม่มีใครเชื่อถือ

            5. เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน ผู้แพ้ถูกดูหมิ่นดูแคลน

            6. ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย คู่ครองที่ดีเห็นว่าผู้แพ้จะไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้

           พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เดินทางสายกลาง ไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไปการเล่น    ดัมมี่พนันกันเพื่อความสนุกสนาน นาน ๆเล่นกันสักครั้งด้วยเงินจำนวนเล็กน้อยไม่น่าจะมีปัญหาเดือดร้อนอะไรในชีวิตแต่ถ้าเป็นการเล่นอยู่ตลอดเวลา เล่นทุกวัน เพิ่มจำนวนเงินให้มากขึ้นหวังรวยทางลัดก็จะยิ่งเสียเงินมากขึ้นและอาจหนักมากถึงขั้นอยากเลิกแต่เลิกไม่ได้ ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อเล่นการพนันเพื่อติดตามเงินที่เสียไปคืนให้ได้ การเล่นพนันตลอดอย่างนี้แม้แต่เซียนยังต้องหนีให้ไกล 

                   ถ้าต้องการหาเงินจากการพนันคงเป็นไปได้ยากเพราะการพนันมีได้ มีเสีย ส่วนใหญ่แล้วจะเสียมากกว่าได้แต่ก็มีคนจำนวนมากยังหวังพึ่งโชคชะตาคิดว่าการพนันจะช่วยให้มีเงินเพิ่มมากขึ้นมีความสุขมากขึ้น

        พระพุทธเจ้าทรงสอนถึงความสุขว่า มี 2 ประเภทคือ

        โลกียสุข คือสุขแบบชาวโลกและโลกุตตระสุข คือความสุขเหนือชาวโลก ความสุขแบบชาวโลกเป็นความสุขจากการมีทรัพย์สินเงินทอง ใช้จ่ายเงินอย่างมีความสุข ไม่มีหนี้สิน และ ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม ส่วนความสุขเหนือชาวโลกเป็นเรื่องของจิตใจที่มีความดีสูงสุด

        พระองค์ทรงวางหลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขในปัจจุบันให้สามารถสร้างฐานะให้มั่นคงที่เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ 4 ได้แก่

        อุฏฐานสัมปทา คือ ความขยัน ไม่เกียจคร้าน

        อารักขสัมปทา คือ การรักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้ 

        กัลยาณมิตตา คือ การคบคนดีเป็นมิตร คนดีจะแนะนำไปในทางที่ดี

        สมชีวิตา คือ การดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับฐานะ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว

        ท่องเป็นคาถาว่า อุ  อา  กะ  สะ

        นอกจากนี้ยังทรงสอนวิธีบริหารทรัพย์ที่ได้มาโดยแบ่งออกเป็นสี่ส่วนเท่า ๆ กัน หรือ โภควิภาค 4 คือ หนึ่งส่วนใช้เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงคนที่ควรบำรุงและทำประโยชน์ สองส่วนใช้เก็บไว้ลงทุนทำงาน อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น

        เซียนดัมมี่ที่แท้จริงต้องยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า มีสติรู้ถึงโทษของการพนัน ไม่หวังรวยด้วยการพนัน ถ้าอยากรวยต้องขยันทำงาน เก็บเงิน ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายให้เหมาะสมตามฐานะของตัวเองและหลีกเลี่ยงอบายมุข ความสุขของเซียนดัมมี่คือการเล่นแล้วสนุกสนาน เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความสุขไม่ได้อยู่ที่ความรวยหรือความจน  มันอยู่ที่ใจ ยินดีในสิ่งที่ตนได้ พอใจในสิ่งที่ตนมี เท่านี้ก็มีความสุขแล้ว

        สำหรับเซียนที่ต้องการลด ละ ดัมมี่แต่ยังไม่สามารถเลิกได้เด็ดขาดเพราะจิตยังมีกิเลส ยังมีความโลภ อยากได้เงินยังวนเวียนอยู่กับการได้เสียอยู่อย่างนี้ ในทางพุทธศาสนามีหลักธรรมเป็นแนวทาง ให้สามารถชนะการพนันได้คือ อฐิษฐานธรรม 4  หรือ ธรรมที่ตั้งไว้ในใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด

        1. ปัญญา ความรู้ชัด คือ หยั่งรู้ในเหตุผล เข้าใจถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย เข้าใจถึงโทษของการพนัน

        2. สัจจะ ความจริง คือ ตั้งมั่นอยู่ในความจริงที่รู้ชัดด้วยปัญญา ตั้งสัจจะวาจากับตนเองว่าจะ ลด ละ การพนันให้ได้

        3. จาคะ ความสละ คือ สละสิ่งเคยชิน ข้อที่เคยยึดถือไว้ ข้อผิดพลาดจากความจริง ละทิ้งความเคยชิน สิ่งแวดล้อมเก่า ๆ ที่ทำให้คิดถึงการเล่นการพนัน

        4. อุปสมะ ความสงบ คือ ทำจิตใจให้สงบจากกิเลสทั้งหลาย ต้องพยายามยับยั้งชั่งใจ ข่มใจให้สงบเมื่อรู้สึกหงุดหงิด ฟุ้งซ่านอยากไปเล่นการพนัน

        เซียนดัมมี่เข้าใจถึงโทษของการพนันแลัวจึงไม่ควรเสี่ยงเล่นอยู่ตลอดเวลาเพราะหากติดการพนันแล้วก็จะเกิดผลกระทบตามมาทั้งทางด้าน ร่างกาย จิตใจ การเงิน การงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัวดังนั้นถ้าสามารถลด ละ การพนันได้ด้วยธรรมะทั้ง 4 ข้อด้วยความตั้งใจว่า  ไม่เล่น ไม่เสีย ไม่ไป ไม่ว่าง ก็จะเป็นการสร้างความสงบให้กับจิตใจและหากฝึกนานวันเข้าจนถึงขั้นเลิกเล่นการพนันได้อย่างเด็ดขาดก็จะเกิดความดีขึ้นในชีวิตนั่นคือการบรรลุสิ่งที่ดีที่สุดของดัมมี่


ดวงหรือกรรม

เล่นดัมมี่มีแต่เสีย วันนี้ไม่มีดวงเลย ขนาดใช้ฝีมือแล้วนะ ยังสู้ดวงเขาไม่ได้เลย มันอยู่ที่ดวงจริง ๆ ถ้าฝีมือจริงก็ต้องได้ทุกครั้งแล้วสิ แล้ว ดวงในการเล่นดัมมี่คืออะไร เวลาและตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้าอย่างนั้นหรือ

เราจะเริ่มเปิดดวงไพ่ดัมมี่เวลาสับไพ่หรือกรีดไพ่จะเป็นการสุ่มการจัดเรียงไพ่ก่อนแจกซึ่งสามารถสับเปลี่ยนการเรียงไพ่เป็น ล้าน ๆ หน้า  ผู้แจกเป็นผู้กำหนดการเรียงไพ่นี้ผู้เล่นไม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้ไพ่ออกมาเป็นอะไร ผู้แจกก็เลือกไม่ได้เช่นกัน เมื่อทุกคนได้รับแจกไพ่เท่ากันคนละ 7 ใบจึงเริ่มเล่น บางคนไม่มีไพ่กันกินหัว กินสเปโตเลย บางคนอาจจะได้ไพ่คู่กินหัว กินสเปโตได้ ก็ขึ้นอยู่กับการจั่วไพ่ที่สามารถจับคู่ได้ ถ้าจั่วไม่ได้ก็ต้องกันไว้อย่างนั้น

ในการเล่นดัมมี่ผู้เล่นพยายามทำให้ไพ่ในมือมีชุดพร้อมที่จะคอยโง่หรือดัมมี่ให้เร็วที่สุดถ้าคอยโง่หรือดัมมี่แล้วจั่วไม่ได้ จั่วพลาดไปไม่น็อก จะโทษว่าดวงไม่ดี หรือไม่มีดวง ถ้าคอยโง่แล้วจั่วได้ก็บอกดวงดี จั่วได้ บังเอิญล้วงแม่น สุดแท้แต่คนกินจะพูดไป

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นศาสนาที่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ ไม่เชื่อเรื่องดวง อำนาจดลบันดาล ให้เชื่อเรื่องของกรรม พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า กรรมคือการกระทำ  ทั้งกรรมดี กรรมชั่วที่แสดงออกมาทางกาย วาจา ใจ ด้วยเจตนาคือกรรมทั้งสิ้น     การกระทำนี้ไม่ได้หมายถึงตัวผลแต่เป็นตัวการกระทำในแง่ของการเป็นเหตุมากกว่าเป็นผล จะเป็นอดีต ปัจจุบันหรืออนาคตก็ได้และจะส่งผลถึงกัน การกระทำที่เป็นเหตุในอดีตจะส่งผลถีงปัจจุบันและการกระทำที่เป็นเหตุในปัจจุบันจะส่งผลถึงอนาคต

ความบังเอิญไม่มีในโลก ทุกสิ่งถูกลิขิตจากกรรมเรียกว่ากรรมลิขิตทั้งกุศลและอกุศลทั้งในอดีตและปัจจุบัน กรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วให้ผลชั่ว ใครทำกรรมใดไว้ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น กรรมติดตามตัวไปตลอด เราจึงหลีกกรรมไม่พ้น ขึ้นอยู่กับว่ากรรมไหนจะส่งผลก่อนกัน 

ทุกปัญหาเกิดขึ้นล้วนมีสาเหตุทั้งนั้น เดินเหยียบขี้ หมากัดตูด เล่นไพ่เสียแล้วจะโทษใครก็รู้อยู่แล้วว่าเสียมากกว่าได้ ทุกอย่างล้วนเกิดจากกรรม โชคลาภก็เช่นกันจะเกิดขึ้นลอย  ๆ ไม่ได้ต้องมีเหตุปัจจัยมาประชุมพร้อมกัน ไพ่จะ  น็อกหรือไม่น็อกอยู่ที่จังหวะในการจั่วและความพร้อมของไพ่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ตรงกัน ถ้าไพ่พร้อมคอยโง่แต่จั่วไม่ได้ หรืออยู่กับขาอื่น จั่วพลาดไป จังหวะไม่ตรงกันก็ไม่  น็อก ถ้าไพ่ไม่พร้อมจะน็อกถึงจะจั่วได้แต่ก็ยังไม่น็อก ติดตัวอย่างนี้ทำอย่างไรก็ไม่ น็อกถ้าไพ่พร้อมน็อก คอยโง่แล้วจั่วเข้าหรือขาบนตีโง่ก็น็อกได้ เหตุการณ์ไพ่นี้ย่อมมีเหตุปัจจัยประกอบกันเสมอ เมื่อสื่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด มีเหตุมีผลสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไป เรียกว่าอิทัปปัจจยตา

ที่ว่าเล่นเสียตลอด ไม่เคยได้เลยหรือได้ไม่คุ้มเสีย ล้วนเกิดจากกรรมหรือการกระทำของตัวเองที่ทำสะสมมาทั้งนั้น ถ้ารู้จักการควบคุมจิตใจให้กิเลสหรือความโลภอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ เล่นแต่พอดี เล่นได้อย่างสนุกสนานก็จะไม่ทำให้ชีวิตเดือดร้อน การโทษว่า ดวงไม่ดี ไม่มีดวง โชคไม่เข้าข้าง ไม่เคยน็อก ไม่เคยกินแต้มก็ต้องพิจารณาการเล่นของตัวเองด้วยว่าเล่นดี ทำไพ่ให้พร้อมน็อกหรือยัง ถ้าทำให้ไพ่พร้อมแล้วหลังจากนั้นจึงเป็นเรื่องของบุญกรรมที่ทำสะสมไว้ให้ส่งผลในเวลาต่อมา 


โชคชะตาเซียน

        เซียนดัมมี่หลายคนอาจจะนึกน้อยใจในโชคชะตาของตน ไพ่ลอยข้ามมาอยู่ตรงหน้าน็อกแน่นอนแต่ขาบนกลับจั่วน็อกตัดหน้าไปซะงั้น ซวยจริง ๆ คนอื่นเล่นกันได้บ่อยแต่ทำไมเราเล่นไม่เคยได้หรือนาน ๆ จะได้สักครั้งแต่ก็ไม่คุ้มกับที่เสียไป ทำไมเราจึงไม่มีโชคดีอย่างเขาทั้ง ๆ ที่ฝีมือระดับเราก็ไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว

        ในทางพุทธศาสนาไม่มีโชคดี โชคร้ายอย่างที่บอก มีแต่กรรมดี กรรมชั่วที่เห็นว่าคนอื่นโชคดี เล่นได้ ถูกหวยรวยเป็นล้านก็เพราะเกิดจากผลของการกระทำในอดีตชาติ เขาทำบุญสะสมไว้มาก อาจจะเคยทำบุญให้กับพระอริยสงฆ์ที่มีเนื้อนาบุญอย่างมากจึงได้บุญมากในชาตินี้ผลบุญกลับมาตอบสนองให้เขาได้ถูกหวย รวยเป็นเศรษฐีในพริบตา

        การทำบุญให้ได้โชคลาภแบบไม่คาดฝันนั้นต้องเป็นการทำบุญโดยบังเอิญ เช่นเดินผ่านไปกองบุญ กองกฐิน ผ้าป่า วัดกำลังสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลา พระประธาน จึงเกิดความศรัทธาอยากบำรุงพุทธศาสนาจึงทำบุญไป การทำบุญแบบนี้จะสนับสนุนให้เกิดโชคลาภอยู่เสมอ ผู้ที่ถูกหวย เล่นไพ่ได้บ่อยเป็นเพราะผลบุญเช่นนี้

         ดังนั้นผู้ที่ไม่มีดวง อาภัพอับโชคต้องทำความเข้าใจเรื่องของกรรมสาเหตุและผลของกรรมที่ทำให้เป็นอย่างนี้คือ การไม่ทำบุญทำทานเลย หรือทำเพียงเล็กน้อยไม่มีเจตนาจะให้จริง ให้อย่างเสียมิได้ หรือทำบุญแบบเอาหน้า เอาชื่อเสียง หวังผลตอบแทน เช่นทำบุญร้อยแต่หวังรวยเป็นล้าน บุญที่ได้ก็ลดน้อยลงไป อีกทั้งเงิน สิ่งของมาทำบุญได้มาโดยไม่สุจริต เช่นลักขโมย โกงมาแล้วมาทำบุญ แทนที่จะได้บุญมากก็เลยได้น้อยไป

        นอกจากจะไม่ทำบุญแล้วยังไม่รักษาศีล ไม่สำรวมกาย วาจา ใจ ชอบลักเล็กขโมยน้อยหรือใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อให้ได้ทรัพย์นั้นมา สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น จิตใจมีแต่ความตระหนี่ถี่เหนียวไม่คิดช่วยเหลือคนและที่เป็นเหตุให้ไม่โชคดีที่สุดคือการไม่สวดมนต์ นั่งสมาธิ ไม่เคยเข้าวัดฟังธรรมหรืออ่านหนังสือธรรมะเพื่อทำจิตใจให้สงบเกิดสติปัญญา

        เมื่อทำเหตุไม่ดีเช่นนี้ก็อย่าหวังเลยว่าจะได้โชคลาภ ดังนั้นหากต้องการได้โชคลาภต้องทำบุญทำทานสะสมให้มากด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์เพราะบุญเป็นเหตุโดยตรงที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น นอกจากการทำบุญแล้ว พุทธศาสนาสอนให้ยึดหลักเหตุผล ให้ใช้ความเพียรช่วยเหลือตัวเองก่อนเป็นหลัก การหลงมัวเมาปลุกวัตถุมงคล กราบไหว้ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มีโชคลาภแล้วนอนรอให้เกิดผลโดยที่ตนเองไม่ขยันทำงานสุจริตก่อน สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นก็ช่วยอะไรไม่ได้ 

        เซียนดัมมี่รู้เหตุ รู้ผลอย่างนี้แล้วก็ขอให้ยอมรับในผลกรรมและปรับปรุงตัวเอง อย่าท้อถอย อยากมีโชคลาภต้องทำบุญ สร้างกุศลตั้งแต่วันนี้ ขยันทำงานอย่าหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ให้พึ่งตนเอง ยึดมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ ทำดี ละชั่ว ทำใจให้ผ่องใสและไม่ประมาทในการดำรงชีวิต


บุญเราทำ  บาปกรรมเราไม่สร้าง

        เซียนดัมมี่พอเล่นเสียขึ้นมาก็จะทำใจคิดว่าเป็นการบริจาคทำบุญให้กับผู้เล่นได้ บางทีอาจจะถูกเยาะเย้ยด้วยซ้ำว่าคราวหน้าก็ใส่ซองมาแจกให้ทุกคนเลยแล้วกัน ไม่เสียเวลาด้วย เซียนได้ฟังอย่างนี้ย่อมไม่โกรธ อดทน อดกลั้น ปล่อยวางเฉยให้ผ่านไป การคิดบริจาคทำบุญเช่นนี้จะได้บุญหรือไม่ 

         การทำบุญในพระพุทธศาสนาที่มีผลมาก  มีอานิสงฆ์มากเช่นการทำบุญใส่บาตรจะต้องประกอบด้วยองค์คุณ 3 ประการคือ   

        1. วัตถุบริสุทธิ์ คือได้มาโดยบริสุทธิ์  ไม่มีโทษ

        2. เจตนาผู้ให้บริสุทธิ์ คือก่อนให้ตั้งใจทำบุญด้วยความเลื่อมใส ศรัทธาขณะให้ให้ด้วยความเต็มใจ จิตใจเบิกบาน หลังให้ไม่คิดเสียดาย ทำแล้วมีความสุข

        3. ผู้รับเป็นผู้บริสุทธิ์ คือพระภิกษุ สามเณรเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์

        เมื่อการทำบุญครบองค์ประกอบเช่นนี้ผู้ทำบุญก็ได้บุญมาก ถ้าไม่รู้สึกเช่นนั้นบุญก็ลดน้อยถอยลงตามเจตนา

        การทำบุญหรือการทำทานนี้ต้องใช้เงินหรือวัตถุเรียกว่าทานมัยเป็นวิธีการทำบุญลำดับแรกแต่ยังมีวิธีการทำบุญอื่นอีกที่ไม่ต้องใช้เงินอีก 9 วิธี รวมเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 มีดังนี้

        1. ทานมัย คือ การให้ การสละ การแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเงิน วัตถุสิ่งของ หรืออะไรก็ตาม ไม่ว่าจะถวายพระ ให้คนทั่วไปหรือสัตว์ก็ถือว่าเป็นบุญ

        2. สีลมัย คือการรักษาศีล เช่น ศีล 5 การประพฤติทางกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย เป็นการกำจัดกิเลสให้เบาบาง

        3. ภาวนามัย คือ การฝึกใจให้สงบ เช่นการนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรมสวดมนต์ สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ขอให้มีสติ รู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร

        4. อปจายนมัย คือ การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน แสดงความเคารพผู้ใหญ่หรือแม้แต่การไหว้พระก็เป็นบุญ

        5. ไวยาวัจมัย คือ การช่วยเหลือคนอื่น ช่วยสังคม งานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ถ้าไม่มีเงินช่วยก็ช่วยออกแรงอย่างนี้ก็ถือว่าได้บุญ

        6. ปัตติทานมัย คือ การให้ผู้อื่นมาร่วมบุญด้วย ไม่หวง ไม่เหนียวบุญ ทำคนเดียว เปิดโอกาสให้คนอื่นได้ทำบุญด้วย

        7. ปัตตานุโมทนามัย คือ การอนุโมทนาในการทำดีหรือทำบุญของผู้อื่น ชื่นชมยินดีกับบุญที่เขาทำด้วย ไม่คิดอิจฉา อย่างนี้ก็เป็นบุญ

        8. ธัมมัสสวนมัย คือ การฟังธรรม มีประโยชน์ต่อสติปัญญาและการดำเนินชีวิต ไม่จำเป็นต้องไปฟังที่วัดหรือจากพระ ฟังจากเทป ซีดีหรือผู้รู้ก็ได้

        9. ธัมมเทสนามัย คือการให้ธรรม ข้อคิด คำแนะนำที่ดีแก่ผู้อื่น การถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ การทำทานที่เรียกว่าธรรมทานเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ ได้บุญมากที่สุด

        10. ทิฏฐุชุกรรม คือ การทำความเห็นให้ตรงให้ถูกต้องตามธรรมนองคลองธรรม การไม่ถิอทิฐิ เอาตนเองเป็นใหญ่

        เราชาวพุทธต้องรู้การทำบุญให้ได้ผลบุญมาก ๆ ควรทำให้ถูกต้อง การทำบุญกับพระผู้มีศีลย่อมได้มากกว่าทำบุญให้คนไม่ดี ทำทานให้สัตว์ก็ได้ผลบุญเช่นกันแต่ได้น้อยกว่าผู้มีศีล พระพุทธเจ้าตรัสว่าทานที่พิจารณาดีแล้วจึงให้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ 

        การทำบุญควรทำด้วยสติปัญญา การคิดว่าถ้าบริจาคเงินน้อยจะได้บุญน้อย จึงต้องทุ่มบริจาคแบบสุด ๆ เพื่อหวังให้ได้บุญมากจนหมดตัวจนตัวเองเดือดร้อน เกิดปัญหากับครอบครัว การทำบุญเช่นนี้เป็นการทำบุญแบบผิด ๆ

        การทำบุญด้วยเจตนาที่ดีเพื่อหวังประโยชน์แก่ผู้รับและหวังผลเป็นความสุขใจเพื่อขจัดกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ของผู้ให้แม้จะทำน้อยก็ให้ผลมาก การทำบุญหรือการทำทานไม่ควรยึดติดกับการให้ทานที่เป็นเงินหรือวัตถุอย่างเดียว ควรทำบุญด้วยวิธีอื่นด้วยเพื่อให้ได้ผลบุญที่แท้จริง

       ส่วนบาปตรงข้ามกับบุญ บาปหมายถึงความชั่วเกิดจากกิเลสภายในใจคือโลภะ โทสะ โมหะ บังคับจิตใจให้คนทำชั่วทั้งกาย วาจา ใจ เป็นผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่จิตทำให้จิตอยู่ในสภาวะเศร้าหมองไม่ผ่องใสเกิดความทุกข์
    
        หนทางแห่งการทำบาป ทำชั่ว ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า อกุศลกรรมบถ 10 ประการ แบ่งออกเป็น 3 ทางคือ กายกรรม 3 วจีกรรม 4 และมโนกรรม 3 ดังนี้

            กายกรรม 3 ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม
            วจีกรรม 4 ได้แก่ การพูดโกหก การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบและการพูดเพ้อเจ้อ
            มโนกรรม 3 ได้แก่ ความโลภอยากได้ของคนอื่น ความพยาบาทคิดร้ายผู้อื่นและความเห็นผิดจากคลองธรรม

        เมื่อได้ทำกรรมใดกรรมหนึ่งใน 10 อกุศลกรรมบถแล้วจึงจัดว่าเป็นการทำบาป เซียนดัมมี่ถามว่าการเล่นดัมมี่เป็นบาปไหม ด้านกายกรรมสามารถละเว้นได้แต่ทำผิดหมดด้านวจีกรรมทั้งพูดหลอกลวง เยาะเย้ยเสียดสีผู้ตีโง่ พูดคำหยาบด่าไพ่ พูดตลกโปกฮาไร้สาระและผิดมโนกรรมด้วยคือ มีความโลภอยากได้ โกรธแค้นเวลาตีโง่และเห็นกงจักรเป็น 2 ดอกจิก เซียนจึงทำบาปเต็ม ๆ

        พระพุทธเจ้าตรัสว่าหากบุคคลทำบาปไปก็ไม่ควรทำบาปนั้นซ้ำอีก ไม่ควรพอใจในบาปนั้นเพราะการสั่งสมบาปนำความทุกข์มาให้และหากบุคคลทำบุญก็ควรทำบุญนั้นบ่อย ๆ ควรพอใจในบุญนั้นเพราะการสั่งสมบุญนำความสุขมาให้ 

        เซียนได้ฟังดังนั้นจึงเกิด หิริ หรือความละอายใจที่ตัวเองทำบาป ไม่ทำความดีให้เกิดขึ้นในตน จิตใจเซียนเกิดความหวั่นไหวเมื่อจะทำบาปเกิด โอตตัปปะ หรือความเกรงกลัวผลของกรรมชั่วที่ตัวเองทำไว้จะตามมาจึงปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตใจให้ผ่องใส 


เชื่อ ศรัทธา ในพุทธะ

        ดัมมี่กับการตีโง่เป็นของคู่กัน เซียนยังเผลอโง่ได้ถ้าเกิดความประมาทตีไพ่ไม่ระวัง หลงผิดคิดนึกเอาเองว่าไพ่ี่เก็บมาปลอดภัยไม่น่าจะโง่ได้สุดท้ายก็พลาดแล้วยังไปกล่าวหาคนส่งหอกมาให้ว่าเชื่อใจไม่ได้ ดัมมี่มีการพูดจริงพูดเล่นกัน หลอกลวงกันตลอดในเกมทั้งคำพูดจาและท่าทาง ออกอาการจริงหรือไม่จริง ไพ่ที่เก็บมาเชื่อได้หรือไม่ เรื่องความเชื่อจะให้พิจารณากันอย่างไร

        พระพุทธเจ้าทรงให้เชื่อด้วยปัญญา พิจารณาให้รู้เหตุและรู้แล้วให้เชื่อตามเหตุผลนั้นไม่ใช่ตามอาการ หลักธรรมที่พระองค์แสดงเพื่อตัดสินในสิ่งที่ตนสงสัยว่าอย่าเพิ่งเชื่อด้วยเหตุ 10 ประการหรือหลักกาลมสูตร มีดังนี้

        1. อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการฟังตามกันมา ฟังเขาว่ามาอย่างนั้นอย่างนี้อาจจะมีถูกบ้างผิดบ้าง อาจจะไม่เป็นจริงตามที่เขาว่ามาหรือตัวเองฟังมาผิดก็ได้

        2. อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการถือสืบ ๆกันมา เห็นว่าเป็นของเก่า เขาเชื่อถือกันมานานตั้งแต่โบราณซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักของเหตุผล ยังพิสูจน์ไม่ได้ยังไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริง ดีจริงหรือไม่

        3. อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการเล่าลือ อ้างว่าได้ยินข่าวมาอย่างนี้ ตื่นข่าว อย่าเพิ่งไปเชื่อตามข่าวเพราะข่าวเท็จ ข่าวปลอม ลงข่าวผิดพลาดมีมากมายควรพิจารณาให้ดีเสียก่อน

        4. อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการอ้างตำราเพราะตำราอาจผิดได้ พระพุทธเจ้าให้พิจารณาดูก่อน บางคนอ้างว่าอยู่ในตำราก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าเป็นการอ้างจริงหรือไม่ อ้างผิดอ้างถูกหรือไม่

        5. อย่าเพิ่งเขื่อด้วยการคิดเดาเอาเอง การคาดคะเนหาเหตุผลว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น คงจะเป็นเพราะเหตุนี้อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป การนึกคิด คาดเดาเอาเองอาจจะผิดได้จึงยังไม่ควรรีบตัดสิน

        6. อย่าเพิ่งเชื่อด้วยนัยตามที่คาดคะเน การอนุมานหรือการสรุปเอาจากเหตุผลไม่ว่าจะเป็นการสรุปจากเหตุผลส่วนใหญ่ไปหาส่วนย่อยหรือจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่ก็อย่าเพิ่งเชื่อเพราะอาจไม่เป็นจริงได้

        7. อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏคือเห็นอาการที่ปรากฏแล้วคิดว่าใช่แน่นอน ควรคิดเผื่อไว้ก่อนอย่าคิดเข้าข้างตนเองซึ่งมันอาจจะไม่จริงตามที่เห็นก็ได้

        8. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะต้องกับความเห็นของตน เรื่องอะไรที่ตรงกับความคิดของตนก็ยอมรับว่าใช่ ถูกต้อง เชื่อได้เพราะตนเชื่อเรื่องนั้นอยู่แล้วซึ่งอาจจะผิดได้จึงอย่าเอาความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่

        9. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าผู้พูดควรเชื่อได้ การตัดสินผู้พูดเพราะเห็นว่าผู้พูดมีตำแหน่งใหญ่โต มีฐานะดี มีลักษณะท่าทางน่าเชื่อถืออาจจะถูกหลอกได้จึงควรฟังหูไว้หูพิจารณาให้ดีก่อนแล้วจึงเชื่อ

        10. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา แม้แต่ครูก็อย่าเพิ่งเชื่อ แท้ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่าไม่ให้เชื่อครูแต่ให้พิจารณาดูเสียก่อนเพราะครูเราอาจพูดผิดหรือทำผิดได้เมื่อเห็นว่าดีแล้วจึงค่อยเชื่อ

        พระพุทธเจ้ายังทรงให้หลักการพิจารณาว่าเมื่อใดสอบสวนด้วยตนเองแล้วรู้ว่าธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษเมื่อนั้นพึงละเสียและเมื่อใดสอบสวนด้วยตนเองแล้วรู้ว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลหรือไม่มีโทษเมื่อนั้นพึงถือปฏิบัติ

        พระองค์ไม่ได้บอกให้เชื่อแต่เตือนว่า ไม่ให้ด่วนเชื่อแต่ให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้ดีเสียก่อนและลงมือปฏิบัติให้ห็นผลจริงแล้วจึงค่อยเชื่อ

        นอกจากนี้แล้วพระองค์ทรงแสดงความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาหรือเรียกว่า ศรัทธา 4 คือ

        1. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจว่าพระองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ทรงนำทางให้เห็นว่ามนุษย์หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถบรรลุธรรมชั้นสูงได้

        2. กัมมสัทธา เชื่อในเรื่องกรรม เชื่อว่ากรรมมีจริง เชื่อกฏแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมที่ทำด้วยเจตนาย่อมเป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดี ผลร้ายสืบต่อเนื่องกันไปและเชื่อผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำไม่ใช่การอ้อนวอนขอ

        3. วิปากสัทธา เชื่อวิบาก คือเชื่อว่าผลของกรรมมีจริง กรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว กรรมบางอย่างส่งผลโดยตรง กรรมบางอย่างส่งผลเร็ว กรรมบางอย่างส่งผลช้า ข้ามภพข้ามชาติ

        4. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมใดใครเป็นผู้กระทำ ผู้นั้นต้องเป็นผู้รับผลซึ่งอาจจะเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบันหรือในอดีตชาติก็ได้ จะรับผลกรรมแทนกันไม่ได้หรือจะรับแต่ผลกรรมดีแล้วโยนผลกรรมชั่วให้คนอื่นก็ไม่ได้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

        ศรัทธามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิต หากไม่มีศรัทธาจะไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ชีวิตจะไร้แก่นสาร แต่หากมีศรัทธาโดยไม่มีปัญญาพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งนั้นก็จะกลายเป็นความงมงาย 

        ดังนั้นเซียนผู้มีศรัทธาเต็มเปี่ยมที่แท้จริงต้องเชื่อเรื่องกฏแห่งกรรม  เชื่อผลของกรรมที่ตนทำ เชื่อว่าทำดีต้องได้รับผลดีอย่างแน่นอน ทำชั่วต้องได้รับผลชั่วอย่างหนีไม่พ้น เขาย่อมไม่สงสัยเลยว่าทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดีเสมอไป ทำไมทำชั่วจึงได้ดีมีบ่อยครั้ง เพราะเขาทำดีไม่หวังผลตอบแทนเมื่อใด จิตใจเขาย่อมได้ดีเมื่อนั้น

        พระพุทธศาสนา ไม่สอนให้เชื่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เช่นการดู  ดวง การสะเดาะเคราะห์ การแก้กรรม เพราะว่าบุคคลหรือสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถดลบันดาลให้เราเป็นอย่างนั้นได้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เชื่อการกระทำของตนเอง ตนเองรับผลกรรมของตนเอง ไม่มีใครจะรู้จะเห็นการกระทำของตนเองได้ดีเท่ากับตนเองเมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่จำเป็นต้องเชื่อหมอดู เชื่อตัวเราเองนี่แหล่ะดีที่สุด

         เชื่อในพระคุณ 9 ประการของพระพุทธเจ้า การแขวนพระเพื่อเป็นเครื่องรางของขลัง คุ้มครองป้องกัน บันดาลโชคลาภแต่ไม่เคยคิดถึงพระธรรม หรือรักษาศีลเลย พระองค์ราคาเป็นล้านก็ช่วยอะไรไม่ได้ ไม่ต่างจากการแขวนเศษดิน เศษโลหะ หลวงปู่มั่น พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า กล่าวว่า "องค์ท่านเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่แล้ว เราดีอย่างไรจึงไปเสกให้ท่านขลัง"  ดังนั้นการแขวนพระมีความหมายเพื่อเตือนสติรำลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  การทำบุญ ทำทาน รักษาศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิ ผลแห่งกรรมดีจะคุ้มครองเราเอง
  
        การใช้สติปัญญาพิจารณาไพ่ให้ละเอียดรอบคอบก่อนตีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการเล่น อย่าคิดเอาเองว่าไพ่คู่หน้านี้ขาบนเก็บไปแล้วและไพ่ที่เหลืออีก 2 ใบล่ะ อยู่กับขาล่างหรือเปล่าอาจตีโง่ได้นะ การเล่นเร็ว ตีเร็วโดยไม่ทันคิดนั่นคือความประมาททำให้เกิดการตีโง่มามากแล้วดังนั้นเซียนจึงต้องมีสติติดตามการเล่นตลอดหากเผลอไผลไม่คิด ไม่ระวังการตีไพ่ตัวแปลกใหม่ชีวิตดัมมี่สั้นลงแน่นอน    


มีสติ รู้ตัวตลอด

        หลักการสำคัญอย่างหนึ่งในการเล่นดัมมี่คือสติ คุณต้องมีสติอยู่กับการเล่นตลอดเวลาหากขาดสติไปแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียวคุณก็อาจถูกน็อกหรือตีโง่ได้ ลองตรวจดูการเล่นของคุณว่าเป็นแบบนี้หรือไม่เช่นจำไม่ได้ว่าขาล่างเก็บไพ่อะไรขึ้นไป เผลอไปตีโง่ ตีไพ่ผิดบ่อย ตีปี้โดยไม่ตั้งใจ เล่นไม่ทันเกม ใจไม่อยู่กับตัว คิดแต่เรื่องอื่น คิดน็อกไม่เป็น เวลาถูกน็อกหรืออมสเปโตก็เกิดอารมณ์เสีย หงุดหงิดโกรธแค้นขึ้นมาทันที หากคุณมีอาการเช่นนี้แสดงว่าสติคุณเริ่มจะไม่อยู่กับตัวต้องรีบตั้งสติให้ดีให้กลับมาโดยเร็วก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้

        สติเป็นหลักธรรมพุทธศาสนาหมายถึงความระลึกได้นึกได้สำนึกอยู่ไม่เผลอ ไม่หลงลืม ฉุกคิดขึ้นได้ การคุมใจไว้กับกิจหรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือการปฏิบัติ หลักธรรมที่มาคู่กับสติคือสัมปชัญญะ หมายถึงความรู้ตัวทั่วพร้อมทั้งกายใจที่เป็นไปในปัจจุบันขณะที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดสัมปชัญญะยังหมายถึงความรู้ชัดรู้จริงที่นำมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ถ้าสติไม่มา ปัญญาก็ไม่เกิด
         สติมีความสำคัญอย่างมากในการดำเนินชีวิต คนที่มีสติสัมปชัญญะจะสามารถควบคุมกาย วาจา ใจ การกระทำให้เกิดความรอบคอบไม่เกิดความเสียหาย มีความรู้เท่าทันถึงการณ์ เห็นเหตุแล้วคาดว่าผลลัพธ์อะไรจะตามมา สติก็จะระดมปัญญามาช่วยป้องกันหรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

        เซียนดัมมี่จึงควรฝึกสติหรือเจริญสติให้อยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดเรื่องอื่นเพื่อให้เกิดสมาธิ วิธีที่นิยมปฏิบัติกันเรียกว่าสติปัฏฐาณ 4 ประกอบด้วย

        1. กายานุปัสสนา คือการพิจารณาตามดูรู้กาย เช่นการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก การรู้ตัวทุกการเคลื่อนไหวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ให้ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น การพิจารณากายว่าเป็นของไม่เที่ยง กายประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่นานก็แตกดับสลายไป

        2. เวทนานุปัสสนา คือการตั้งสติตามดูรู้ทันเวทนา ความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์หรืออุเบกขา เฉย ๆ ก็รู้ชัดตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ไม่ยึดมั่นถือมั่น

        3. จิตตานุปัสสนา คือการตั้งสติตามดูรู้ทันจิตของตนขณะนั้นว่าเป็นอย่างไรมีความโลภ โกรธ หลงหรือไม่ จิตใจฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิก็รู้ชัดตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้น

        4. ธัมมานุปัสสนา คือ การตั้งสติตามดูรู้ทันธรรมได้แก่
           4.1 นิวรณ์ 5 คือ รู้ชัดในกามฉันท์ พยาบาท เฉื่อยชา ฟุ้งซ่าน ลังเล ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ละเสียได้อย่างไร ให้ รู้ชัดตามที่เป็นไปในขณะนั้น
            4.2 ขันธ์ 5 คือรู้ชัดว่าขันธ์ 5 แต่ละอย่างๆ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร ขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูป เวทนา(ความรู้สึก)    สัญญา(ความจำ) สังขาร (การคิดปรุงแต่ง) และ วิญญาณ (จิต)  
            4.3 อายตนะ 12  คือรู้ชัดในอายตนะภายใน 6  ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภายนอก 6 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์  ว่าตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร เป็นสิ่งใดแน่
            4.4 โพชฌงค์7 คือรู้ชัดในขณะนั้นๆว่า สติ(ความระลึกได้) ธรรม วิริยะ(ความเฟ้นธรรม) ปีติ(ความอิ่มใจ) ปัสสัทธิ(ความสงบกายใจ) สมาธิ(ความตั้งจิตมั่น) และอุเบกขา(ความวางใจเป็นกลาง) มีปรากฏอยู่ในใจตนหรือไม่ ถ้ายังไม่ปรากฏ จะปรากฏได้อย่างไร ที่ปรากฏแล้ว เจริญบริบูรณ์ หรือไม่ 
            4.5 อริยสัจ 4 คือรู้ชัดในทุกข์ที่เกิด ว่าเกิดจากอะไร มีเหตุอย่างไร และจะดับได้ด้วยมรรคใด

        หลักสำคัญของสติคือปัจจุบัน ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน เราต้องมีสติรู้ทันความคิดหรือจิตที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดกิเลส ตัณหา พยายามควบคุมจิต ดึงจิตกลับมา  ให้จิตอยู่กับการกระทำของร่างกาย เราก็จะมีสมาธิ สงบนิ่งและเมื่อมีสมาธิ ปัญญาจะเกิดตามมาเมื่อเกิดความทุกข์เราก็ใช้หลักไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่ามันไม่เที่ยง มีเกิด มีดับ ให้ปล่อยวาง ไม่ยึดติด คิดถึงคำพระว่า ตถาตา มันเป็นเช่นนั้นเอง จะได้ไม่วิตกกังวล ไม่เป็นทุกข์ จิตใจก็จะเป็นสุข
 
            แนวทางการฝึกสติสั้น ๆ ง่าย ๆ สำหรับผู้เริ่มต้นฝึกสติมีดังนี้

            1. ตื่นนอน ตั้งสติ ระลึกรู้ในการทำกิจส่วนตัว แปรงฟัน ล้างหน้า อาบน้ำ ทานข้าว ให้มีสติ รู้ตัวตลอดทุกอิริยาบถ หัดรู้สึกตัวบ่อย ๆ ก่อนนอนให้ทำสมาธิ รู้ลมหายใจเข้าออกจนกว่าจะหลับทุกครั้ง
            2. สำรวมกาย วาจา ใจเมื่อพบปะบุคคล ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับงาน ขณะพูดให้มีสติระลึกรู้ตัวตลอดเวลา เมื่ออยู่คนเดียวให้เริ่มฝึกรู้ตัวให้เป็น ไม่ใจลอย หัดมีสติระลึกรู้อยู่กับสภาวะปัจจุบัน
            3. พยายามทำความเพียรฝึกเจริญสติไปเรื่อย ๆ เมื่อเริ่มใหม่ ๆจะเผลอลืมบ่อย ๆให้เฝ้าใส่ใจความรู้สึกให้แยบคาย พยายามมากขึ้นจนเกิดความชำนาญ เกิดความเคยชินเป็นนิสัย
            4. อ่านหนังสือธรรมะ ฟังธรรมะ พยายามทำใจให้สงบ นิ่ง ความสงบอยู่ที่การปล่อยวางจิตให้พอดี ไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป ให้เฝ้าดูสังเกตตัวเองว่าเบาใจ เบากายกว่าเดิมหรือไม่
            5. รักษาศีล 5 อย่าให้ขาดละเว้นอบายมุข มองโลกในแง่ดี ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสตลอดวัน ไม่คิด พูด ทำ ในสิ่งอกุศล ไม่กล่าวร้ายคนอื่น คิดอิจฉา พูดคำหยาบ หากโกรธต้องมีสติค่อย ๆทำให้ความโกรธลดลง   

        เซียนดัมมี่ที่ยังไม่ฝึกสติให้รู้ทันเกม ติดตามเกมตลอดลองฝึกตั้งสติใจจดจ่ออยู่กับการเล่น ไม่คิดถึงเรื่องอื่น ให้ฝึกดูตามมือของผู้เล่นขาล่างว่าเขาจั่วแล้วเอาไพ่เสียบไว้ตรงไหนหรือทิ้งไพ่อะไรลงมา มีสติรู้อยู่ตลอด และให้ฝึกดูไพ่ขาอื่นให้มาก เมื่อถึงรอบดูไพ่ของตัวเอง ใช้สติในการเล่น ในขณะรอขาอื่นตีไพ่ให้คิดวางแผนไว้ล่วงหน้า ดูการเก็บไพ่จั่วไพ่ทิ้งไพ่กับทุกขา แล้วดูผลของเกมว่าเป็นอย่างไร เกิดการพัฒนาทักษะฝีมือการเล่นมากน้อยเพียงใด การเล่นจะดีหรือแย่ จะเล่นผิด เล่นถูกอย่างไรมันก็อยู่ตรงที่สติที่เป็นปัจจุบันขณะจิตนี้นี่เอง


                      เซียนดัมมี่ คนดีระดับเซียน          

              เซียนดัมมี่สมัยเป็นเด็กคงจะเคยได้ยินคำสอนของผู้ใหญ่ว่าการพนันเป็นสิ่งไม่ดี เป็นอบายมุข คนดีเขาไม่เล่นการพนันกันแต่ก็ไม่สนใจเพราะเห็นเล่นกันสนุกสนาน คลายเครียด เล่นพนันกันเล็กน้อย ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ใคร ๆ ก็เล่นดัมมี่กัน การเล่นการพนันถึงกับไม่เป็นคนดีเลยหรือ คนดีควรมีหลักธรรมอะไร     

            เรื่องธรรมของคนดีหรือสัปปุริสธรรม7 มีบรรยายอยู่ในสังคีติสูตรในพระไตรปิฎกไว้ดังนี้

            1. ธัมมัญญุตา ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์  รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล

            2. อัตถัญญุตา ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ

            3. อัตตัญญุตา ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

             4. มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี ความพอเหมาะในการทำสิ่งต่าง ๆ รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ต้องรู้จักองค์ประกอบ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องและจัดให้ลงตัวพอดี

              5. กาลัญญุตา ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา

              6. ปริสัญญุตา ความรู้จักชุมชนคือ รู้จักสังคม รู้ถึงสถานการณ์ ปัญหาและความต้องการของชุมชน รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนว่า ชุมชนนี้ในสถานการณ์นี้ จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ ชุมชนนี้มีปัญหาอย่างนี้ควรช่วยเหลืออย่างนี้

               7. ปุคคลัญญุตา ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคล รู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดีว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร

            เซียนดัมมี่รู้หลักธรรมของคนดีแล้วมองเห็นว่าการเล่นดัมมี่ฝังลึกอยู่ในจิตใจเขามานานเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุขและนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการพัฒนาทักษะดัมมี่ได้ดังนี้

            การรู้จักเหตุ รู้ว่าสิ่งนี้เป็นเหตุของสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นเหตุของสิ่งนี้ ต้องวิเคราะห์สาเหตุ เช่นรู้ว่าเมื่อตีไพ่ใบนี้จะเป็นเหตุให้เกิดผลอะไรบ้าง การลบมืด การตีโง่เกิดจากสาเหตุอะไร ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำภายใต้เหตุและผลที่ถูกต้อง

             การรู้จักผล รู้ว่าผลอันนี้เกิดจากเหตุอันนี้ เมื่อทำสิ่งนี้จะเกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไรต้องวิเคราะห์แยกแยะผลที่ได้รับจากการทำสิ่งต่าง ๆให้ออกเช่นรู้ว่าเป้าหมายของการเล่นดัมมี่คืออะไรมีผลประโยชน์อะไร การไม่จำไพ่ขาล่างทำให้เกิดผลอะไร ลงทุนแล้วจะเกิดผลดีหรือไม่

            การรู้จักตน รู้ว่าตนมีสภาพเป็นอย่างไร ทักษะฝีมือระดับใด กำลังทรัพย์มากน้อยแค่ไหนแล้วกระทำให้เหมาะกับสภาพของตัวเองให้เกิดผลดีเช่นไพ่สู้ไม่ได้ก็ยอมขาที่ชนะไป เงินน้อยก็อย่าไปลงทุนมากรู้จักหยุดยั้งอย่าทำอะไรที่เกินกำลังของตัวเอง

            การรู้จักประมาณ รู้ว่าความพอดี ความพอเหมาะพอควรอยู่ที่ใด เช่นรู้จักประมาณในการใช้จ่าย การลงทุนเพื่อหวังน็อกให้พอดีอย่าให้ขาดทุน รู้จักการประมาณในการกินแต้ม ไม่ต้องกินแต้มมาก ชนะแต้มมากหรือน้อยก็ถือว่าชนะ กินให้พอเหมาะพอดีถ้ากินมากไปจะไม่มีใครเล่นด้วย

            การรู้จักกาล รู้ว่าเวลาใดเหมาะสมในการทำงาน เช่นรู้ว่าเวลาใดควรจั่วไพ่ เวลาใดควรเก็บไพ่ เวลาไหนควรกินแต้ม เวลาไหนไม่ควรกินแต้ม เวลาไหนต้องคอยโง่ เวลาไหนต้องอมสเปโต เวลาไหนควรเบรกเกม จัดลำดับเวลาการเล่นให้เหมาะกับสถานการณ์ไพ่

            การรู้จักสังคม รู้ว่าควรประพฤติ ปฏิบัติตัวอย่างไรให้เหมาะกับสังคมนั้น เช่นมีมารยาทในการเล่นดัมมี่และเล่นกันตามกติกาของสมาคม รู้จักการพูด การวางตัวในการเล่น รู้ถึงความต้องการของผู้เล่นด้วยกันและสนองความต้องการนั้นเพื่อที่จะเล่นกันอย่างมีความสุข

            การรู้จักบุคคล รู้ว่าบุคคลมีความแตกต่างกันในเรื่องใด ความสามารถ นิสัยใจคอ คุณธรรมเป็นอย่างไร เช่นสามารถวิเคราะห์ประเมินได้ว่าคู่ต่อสู้มีฝีมือการเล่นดัมมี่มากหรือน้อย มีจิตใจ อารมณ์เป็นอย่างไร การอ่านผู้เล่นออกจะทำให้รู้ว่าเขามีนิสัยอย่างไร พอที่จะเล่นด้วยได้หรือไม่

            สัปปุริสธรรม 7 ข้อนี้ สรุปเป็นคำง่าย ๆ คือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน                รู้ประมาณ รู้กาล รู้สังคม รู้บุคคล เซียนดัมมี่ยึดถือไว้เป็นหลักในการเล่นและการพัฒนาชีวิตแม้ว่าจะไม่ใช่คนดีสมบูรณ์แบบก็ตาม


ตัวเลข ความเชื่อกับหลักธรรม

         ชีวิตเซียนดัมมี่ย่อมเกี่ยวข้องกับตัวเลขไม่ว่าจะเล่นอย่างไร จะเกิดไพ่อะไรดีหรือจะคอยโง่ไพ่เลขอะไรดี ถ้าคอยถูกเลขก็น็อกได้ คอยผิดตัว ผิดช่อง เลขนั้นมายากหรือตายแล้วก็คงไม่น็อก เซียนดัมมี่จึงต้องมีเลขที่ชอบหรือเลขมงคลตามความเชื่อเอาไว้คอยทั้งที่ความจริงแล้วในการเล่นอาจจะเลือกเลขคอยไม่ได้ แต่ถ้าสามารถเลือกได้คุณจะคอยเลขอะไร

        โดยทั่วไปเลข 2 - 9 คนส่วนใหญ่ชอบเลข 5 และเลข 9 ส่วนเลขอื่นมักจะถูกมองข้ามเพราะความหมายไม่ดีหรือไม่เป็นมงคล เลข 5 จะมีเสียงคล้ายเสียงหัวเราะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า ทำให้สนุกสนานรื่นเริง เลข 9 มีเสียงตรงกับคำว่า ก้าว เซียนทึกทักเอาเองว่าคือความก้าวหน้า ต้องกินเยอะ ๆ เซียนด้วยกันแซวว่าก้าวหลังได้ไหม ก็ได้นะ กินเขาไม่ได้ก็ต้องก้าวถอยหลัง

        เลข 2 มีความหมายเป็นคู่ โชคดี เป็นสิริมงคล ให้ความรู้สึกดี มีความสุข คนจีนนิยมเลขคู่ เลข 4 คนจีนจะไม่ชอบเลขนี้เพราะออกเสียงว่า ซี้ แปลว่าตาย แต่คนไทยทางอีสานกลับชอบเสียงเลขนี้ ชอบสี่แปลว่า ชอบสนุกสนานรื่นเริง เลข 6 ฟังเสียงเหมือนหกล้ม หกคะเมน เสียการทรงตัว ทำอะไรล้มเหลวไม่ดี 

         เลข 7 เป็นเลขนำโชคของนักพนันฝรั่งแต่คนไทยกลับไม่ชอบในทางโหราศาสตร์ไทยเชื่อว่าเป็นเลขแห่งความทุกข์ เลข 8 มีทั้งดีและไม่ดี คนจีนชอบถือว่าเป็นเลขมงคลนำโชคลาภ แต่คนไทยเชื่อว่าเลข 8 เป็นเลขราหูแปลว่าทะเลาะวิวาทเหมือนกับเลข 3 ที่คนจีนไม่ชอบเพราะพ้องเสียงว่า ซาน (San) แปลว่า แตกแยก ฝรั่งเอาเลข 8 มาตะแคงข้างกลายเป็นสัญญลักษณ์ อินฟินิตี้ (Infinity) ทางคณิตศาสตร์สื่อความหมายว่าเป็นอมตะ ไม่มีที่สิ้นสุด

        ในทางพุทธศาสนา การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มีการใช้ตัวเลขเป็นการกำกับหัวข้อธรรมต่าง ๆ  ภายหลังการสรุปรวบรวมธรรมลงในพระไตรปิฎก ตัวเลขการจัดหมวดหมู่ของธรรมในหัวข้อต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น

        ในทางธรรม เลข 1 หมายถึงนิพพาน 

        เลข 3 หมายถึงพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแห่งจิตใจของชาวพุทธ จุดธูป 3 ดอก ตั้ง นะโม 3 จบ เวียนเทียน 3 รอบ เคาะระฆัง 3 ครั้ง 

        เลข 3 ไตรลักษณ์ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ 3 อย่างคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนอยู่ในกฏไตรลักษณ์คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่สามารถบังคับให้ยั่งยืนได้

        เลข 4 มีหลักธรรมให้ประพฤติปฏิบัติมากมายหลายหัวข้อในการดำเนินชีวิต และการงานให้เจริญก้าวหน้าและมีความสุข  เช่น

            อริยสัจ 4  ความจริงอันประเสริฐ  ประกอบด้วย

                      1. ทุกข์ ความรู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจ

                      2. สมุทัย ต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์

                      3. นิโรธ สภาวะที่ทุกข์หมดสิ้นไป

                      4. มรรค หนทางสู่การดับทุกข์

              อิทธิบาท 4   ธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย

                      1. ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ

                      2. วิริยะ หมายถึง ความเพียร

                      3. จิตตะ หมายถึง ความเอาใจใส่

                      4. วิมังสา หมายถึง ความไตร่ตรองตามเหตุผล  

        พรหมวิหาร 4   ธรรมที่ใช้อยู่ร่วมกับผู้อื่นประกอบด้วย

                1. เมตตา หมายถึง ความปราถนาให้ผู้อื่นได้รับความสุข

                2. กรุณา หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

                3. มุทิตา หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

                4. อุเบกขา หมายถึง การรู้จักวางเฉย

    สังคหวัตถุ 4   ธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ประกอบด้วย

                1. ทาน หมายถึง การให้

                2. ปิยะวาจะ หมายถึง การพูดจาไพเราะอ่อนหวาน

                3. อัตถจริยา หมายถึง การกระทำตนให้เป็นประโยชน์

                4. สมานัตตตา หมายถึง การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย

ทิฏฐธัมมิกัตถะ 4  ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน ประกอบด้วย

                1. อุฏฐานสัมปทา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น

                2. อารักขสัมปทา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยการรักษา

                3. กัลยาณมิตตตา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยการมีมิตรดี

                4. สมชีวิตา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ดี

กุลจิรัฏฐิติธรรม 4   ธรรมที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่ง ประกอบด้วย

                1. ของหายของหมดต้องแสวงหา

                2. ของเก่าชำรุดต้องบูรณซ่อมแซม

                3. รู้จักประมาณในการใช้จ่าย

                4. ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน

    จักร 4   ธรรมที่นำบุคคลไปสู่ความเจริญ ประกอบด้วย

                1. ปฏิรูปเทสวาสะ หมายถึง การอยู่ในประเทศอันเหมาะสม ถิ่นที่อยู่มีความพร้อมในการทำกิจกรรม 

                2. สัปปุริสูปสังเสวะ หมายถึง การคบสัตบุรุษ การเข้าไปคบกับคนดี ผู้มีสัปปุริสธรรม7

                3. อัตตสัมมาปณิธิ หมายถึง การตั้งตนไว้ชอบ ตั้งอยู่ในสุจริต 3 ได้แก่ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต

               4. ปุพเพกตปุญญตา หมายถึง ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน 

        ฆราวาสธรรม 4   ธรรมที่ใช้ในการครองเรือน  ประกอบด้วย

              1. สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้

              2. ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ

              3. ขันติ แปลว่า อดทน

.             4. จาคะ แปลว่า เสียสละ

        เลข 5 หมายถึง ศีล 5 เป็นข้อห้ามเบื้องต้นที่พระพุทธเจ้าทรง

บัญญัติไว้เป็นหลักธรรมให้พุทธศาสนิกชน พระภิกษุปฏิบัติตาม


        ทั้งหมดนี้คือตัวเลขกับธรรมะกับความเป็นมงคลและยังมีธรรมเลข

อื่นอีกที่ยังไม่ได้แสดง ส่วนผมชอบเลข 4 คิดว่ามันสวยดี มี 4 มุม 4 ด้าน

หมายถึงความเท่าเทียมกัน บรรจบกันลงตัว เวลาจะเล่นดัมมี่ต้องมีผู้

เล่น 4 คนจึงจะเกิดความสนุกสนาน ถ้าขาดหรือมากเกินไปจะขาดความ

พอดีกันตามหลักพระพุทธศาสนาจะต้องมีสมตาหรือความสมดุล

กัน และหลักธรรมะเลข 4 หลายข้อยังสามารถนำมาใช้ในการดำเนิน

ชีวิต ปฏิบัติหน้าที่การงานให้เจริญก้าวหน้าและมีความสุขกับการเล่น

ดัมมี่ด้วย


ทางสายกลาง

        ทางสายกลางของดัมมี่เป็นอย่างไร การเล่นดัมมี่มีหลักการ ความถูกต้อง เป็นหนทางไปสู่เป้าหมายของดัมมี่คือการน็อกและการกินแต้ม 
การเล่นที่ไม่น็อกหรือกินแต้มอาจไม่ใช่ทางสายกลางในการเล่นใช่หรือไม่

           ในทางพุทธศาสนาทางสายกลางหมายถึงการไม่ยึดถือสุดทั้งสอง

อย่างได้แก่ อัตตกิลมถานุโยคคือหนทางหรือข้อปฏิบัติที่ไม่ตึงเกินไป

จนเป็นความลำบากแก่ตนและกามสุขัลลิกานุโยคคือการไม่หย่อนเกิน

ไปจนพอกพูนกามกิเลส พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดหลักทางสายกลาง

ไว้ชัดเจนคือ  มรรค 8 เมื่อย่นย่อแล้วเรียกว่า ไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ

 ปัญญา และย่อลงอีกจะเหลือแค่กายกับใจเท่านั้น        

สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริงตามอริยสัจ 4

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงามคือ มโนสุจริต 3

สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริตหรือวจีสุจริต 4

สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริตได้แก่กายสุจริต 3

สัมมาอาชีวะ การงานชอบ คือประกอบอาชีพที่สุจริต

สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี

สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด

สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ คือ คุมจิตได้แน่วแน่มั่นคง  รู้เท่าทันความคิด

        มรรค 8 เป็นข้อปฏิบัติสำหรับคนทุกคน และทุกคนปฏิบัติได้ด้วย

ตนเอง ไม่ต้องอ้อนวอน คอยการบันดาล หรือรอใครมาช่วยทำให้ เป็น

ข้อปฏิบัติที่นำมาปรับใช้ได้ในการดำเนินชีวิต แค่เรายึดหลักทางสาย

กลาง ไม่สุดโต่งเกินไป ยึดหลักความพอดี ความเหมาะสมและสมดุลทุก

อย่าง ชีวิตเราก็จะประสบความสำเร็จถึงจุดมุ่งหมาย

    เราสามารถนำทางสายกลางมาประยุกต์ใช้ได้ทุกอย่างเพราะยึดความ

ถูกต้องเป็นหลัก นำมาใช้กับการเล่นดัมมี่ได้คือต้องยึดหลักทางสาย

กลาง ไม่ยึดถือสุดทางทั้งสอง ได้แก่การเล่นที่สบายมากเกินไป ตีไพ่ตัว

ปลอดภัยตลอด ไม่แต่งไพ่ให้คอยโง่ ไม่มุ่งหวังน็อก ไม่คิดกินแต้มและ

การเล่นที่ทำให้ตัวเองเล่นลำบาก เล่นแล้วเหนื่อย สุดท้ายจบลงด้วยการ

เสียแต้มหรือตีโง่ 

        ทางสายกลางของดัมมี่ต้องเล่นด้วยสติปัญญาแก้ปัญหา มีเหตุ

มีผล ยึดความพอดี ความสมควรแก่เหตุ คิดพิจารณาสถานการณ์ไพ่

อย่างรอบคอบ ไม่ประมาท ยกตัวอย่าง การเล่นต้องมีเสี่ยงบ้างเพื่อหวัง

น็อกต้องมีสติอย่าหวั่นไหวไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การเล่นต้องมีการเสีย

สละ เสียก่อนเพื่อได้คืนภายหลัง แบ่งปันกันไปเพื่อให้สมประโยชน์ทั้ง

สองฝ่าย 

        การเล่นที่โลภมากเกินไป ไม่ยึดความพอดี เช่นการอม

สเปโตไว้ไม่ลงกินเพื่อหวังน็อกได้ค่าอมสองเท่า การได้กินแต้มอยู่แล้ว

แต่อยากเสี่ยงคอยโง่ คอยโง่ธรรมดาไม่ได้ต้องคอยถึงข้าม ความโลภมาก

จะทำให้เกิดความประมาทและนำความสูญเสียมาให้ เซียนดัมมี่พึงระวัง


อย่าประมาท

    จั่วไพ่เล่นไปแค่2รอบก็ตีโง่เสียแล้ว กำลังแต่งไพ่ในมืออยู่ใครจะคิดว่า

ขาล่างจะเอาโง่เร็วเช่นนี้ การตีโง่เกิดขึ้นได้ทุกเวลาและการไม่คิดก่อนตี

นี้เองเรียกว่าความประมาท

        ความประมาทหมายถึงความชะล่าใจการขาดความระมัดระวัง การไม่ทำดีติดต่อกัน พระพุทธเจ้าทรงเห็นภัยแห่งความประมาทนี้จึงตรัสสอนไว้ว่า ความประมาทคือหนทางแห่งความตาย คนประมาทย่อมเหมือนคนที่ตายแล้ว จึงชี้ทางอันเป็นมงคลชีวิตที่สำคัญคือความไม่ประมาทอันทำให้บุคคลรู้และระลึกได้ถึงสิ่งที่ควรกระทำของตนเพื่อความสุขแห่งตน

     วันหนึ่งพระองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง

    พระอานนท์กราบทูลตอบว่า นึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า

    พระองค์ตรัสว่า ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก

        ลักษณะของคนที่ประมาทและคนที่ไม่ประมาทนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าโอ้หนอ เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันหนึ่ง คืนหนึ่งเราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่ฉันอาหาร เราเรียกว่ายังเป็นผู้ประมาทอยู่ โอ้หนอเราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก การปฏิบัติตามคำสอน(ของพระผู้มีพระภาคเจ้า)ควรทำให้มากเราเรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว

        สิ่งที่ไม่ควรประมาทได้แก่

        1. ไม่ประมาทในเวลา ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์หรือผลัดวันประกันพรุ่ง

        2. ไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าอายุยังน้อย ไม่ต้องรีบทำความดี คิดว่าตัวเองแข็งแรง มีสุขภาพดี ยังมีชีวิตอยู่อีกนานจึงไม่มีการวางแผนอนาคตของตัวเอง

        3. ไม่ประมาทในการงาน  ไม่ขยันตั้งใจทำงานให้สำเร็จ ปล่อยไปตามเรื่องราว

        4. ไม่ประมาทในธรรม ไม่ศึกษาธรรมให้ถ่องแท้ ไม่ปฏิบัติธรรม ถือศีล สมาธิ ภาวนา คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว

    บุคคลจึงไม่ควรประมาทเพื่อความสุขของตนเองในอนาคตทั้งที่มีชีวิตอยู่และหลังจากตายแล้วเพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีชีวิตอยู่ต่อได้อย่างปกติหรือไม่จึงควรสะสมความดีไม่สั่งสมความชั่ว คิดถึงความตายอยู่ตลอด และมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวในเมื่อความตายมาถึงแล้ว เพราะคิดอยู่ รู้อยู่เสมอแล้วว่าเราต้องตายแน่นอน

    พระพุทธเจ้าจึงได้เตือนให้บุคคลไม่ประมาทแม้ก่อนพระองค์จะปรินิพพานก็ได้ตรัสเป็นปัจฉิมวาจาว่า “ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ”

    ความประมาทในดัมมี่คือการตีโง่ การเล่นอย่างขาดสติไม่คิดว่าการตี

โง่นั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเล่นรอบไหนก็ตาม ถ้าประมาท คิดว่า

ไพ่เขามีมาก คงยังไม่คอย  ไม่ว่าจะป็นเซียนระดับไหนก็ตามก็ตีโง่

ได้ทั้งนั้น เซียนจึงควรเล่นด้วยความไม่ประมาท  เล่นอย่างมีสติ เล่นให้ดี

ที่สุดแล้วถึงเวลานั้นอนาคตไพ่มันจะดูแลตัวมันเอง